Deep Tech Spotlight: รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ กล่อมเกล้า นักวิจัยและนักอุตสาหกรรมที่ทำให้ประเทศไทยโดดเด่นในสาขา Food Science และการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือ

  • Science
  • January 05, 2024
Deep Tech Spotlight: รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ กล่อมเกล้า นักวิจัยและนักอุตสาหกรรมที่ทำให้ประเทศไทยโดดเด่นในสาขา Food Science และการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือ
การวิจัยและนวัตกรรมทางด้านอาหารเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วงการอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของประเทศไทยมีความก้าวหน้าและได้รับการจับตามองจากทั่วโลก Deep Tech Spotlight วันนี้เราจะพูดถึงผลงานที่สำคัญและการคิดค้นนวัตกรรมของนักวิจัยชื่อดัง รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ กล่อมเกล้า อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ที่ได้รับการจัดอันดับใน Top 2% แรกของโลกในสาขา Food Science จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ปี 2022 และ ปี 2023 จากการรวบรวมข้อมูลผลงานจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกกว่า 100,000 คน

รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ มีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติในสาขา Food Science 100 ผลงาน ที่ได้รับการอ้างอิงมากกว่า 2,399 ครั้ง และมี  h-index เท่ากับ 30 ทำให้เป็นที่ยอมรับนับถือในวงการวิจัยโลก จากการที่ผลงานได้รับความสนใจสูง ทำให้มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ให้ความยกย่องการมีส่วนร่วมของ รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ ในการเผยแพร่ความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์อาหาร

 

หนึ่งในงานวิจัยที่น่าจับตามองของ รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ กล่อมเกล้า คือการนำเอนไซม์จากเครื่องในปลาทูน่า เอนไซม์ทริปซินจากม้ามปลาทูน่า มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการตรึงเอนไซม์ที่ได้เพื่อเพิ่มมูลค่าและการใช้ซ้ำได้ เอนไซม์ที่ได้ยังสามารถนำไปใช้ในการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสตและแคโรทีโนโปรตีน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและได้รับความนิยมจากตลาด

 

นอกจากนี้ การวิจัยในอุตสาหกรรมการแปรรูปซูริมิก็เป็นหนึ่งในความสนใจของ รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือจากกระบวนการแปรรูปซูริมิ โดยนำเอนไซม์เปปซินจากกระเพาะปลาและเจลาตินจากหนังปลามาใช้ เพื่อผลิตเจลาตินไฮโดรไลเสตจากหนังปลา ที่นำมาใช้เป็นสารทดแทนสารป้องกันการสูญเสียสภาพธรรมชาติทางการค้าที่เติมในผลิตภัณฑ์ซูริมิ ทำให้ได้ซูริมิที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการวิจัยการใช้เอนไซม์โปรตีเนสในการกำจัดสีน้ำตาลในน้ำผลไม้ ทำให้เกิดกระบวนการที่ไม่ใช้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงและไม่ใช้สารเคมีซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ผลลัพธ์ที่ได้คือน้ำผลไม้ที่มีสี กลิ่น รส และคุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น

การวิจัย รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ กล่อมเกล้า

ในทุกการคิดค้นและการวิจัย รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ กล่อมเกล้า ไม่เพียงเพิ่มความรู้ใหม่ ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมอาหาร เเต่ยังร่วมเผยแพร่ความรู้อบรมทักษะกับผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่าง ๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเป็นที่ปรึกษาที่ดีในการให้คำแนะนำและแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่นักวิจัยและนักศึกษา นอกจากนี้ ผลงานของท่านยังเป็นแรงผลักดันที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่เข้าใจถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ

 

ทั้งนี้ รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ กล่อมเกล้า ได้เป็นตัวแทนและเป็นกำลังใจให้แก่นักวิจัยไทยทั้งในและต่างประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นในการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและทำให้ประเทศไทยมีผู้นำทางในการวิจัยและนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมอาหาร นับเป็นเกียรติและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มี รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ เป็นส่วนหนึ่งของวงการนี้

 

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยของ รศ. ดร. สรรพสิทธิ์ เพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่ GOOGLE SCHOLAR

 

---

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "Deep Tech Spotlight" ที่เป็นความร่วมมือระหว่างทรู ดิจิทัล พาร์ค และ สมาคมนักวิจัยรุ่นใหม่ (TYSA) เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักวิจัยไทย และนำเสนอการค้นพบใหม่ของนักวิจัยไทยที่ประสบความสำเร็จ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

 

ติดตาม Deep Tech Spotlight ได้จากบทความบนเว็บไซต์  truedigitalpark.com เราจะนำเสนอนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกเดือน

Tags

  • deep tech
  • deep tech spotlight

You May Like

Feel free to contact us or visit

us to check out our Spaces