QueQ จัดระบบคิวลดความหนาแน่นหน่วยฉีดวัคซีน พร้อมต่อยอดทำแพลตฟอร์มวัคซีนพาสปอร์ต

  • ธุรกิจ
  • July 21, 2021
QueQ จัดระบบคิวลดความหนาแน่นหน่วยฉีดวัคซีน พร้อมต่อยอดทำแพลตฟอร์มวัคซีนพาสปอร์ต
ณ วินาทีนี้ เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘วัคซีนโควิด-19’ นั้นเป็น 1 ในสิ่งที่ประชาชนชาวไทยต้องการมากที่สุด โดยในบางรายก็ได้รับวัคซีนแล้วตามสถานที่ต่างๆที่ทางภาครัฐจัดไว้ให้บริการ แต่ปัญหาที่พบเห็นได้มากที่สุดคือคิวการรับวัคซีนที่ยังไม่เป็นระบบระเบียบ และเมื่อไปถึงสถานที่ บางครั้งก็มีจำนวนผู้รอรับวัคซีนที่แน่นขนัดมากเกินไป ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีก ผู้นำด้านแอปพลิเคชั่นจองคิวอย่าง QueQ จึงยื่นมือเข้ามาช่วยภาครัฐแก้ไขและบรรเทาปัญหาดังกล่าว

ทีมงานทรู ดิจิทัล พาร์คได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณโจ้ รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO และ Co-founder ของบริษัท QueQ สตาร์ทอัพแนวหน้าของไทย ที่ได้นำระบบการจัดการคิวมาใช้กับหน่วยฉีดวัคซีนที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค และอีกหลายหน่วยทั่วไทย

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา QueQ (คิว-คิว) ดิจิทัลสตาร์ทอัพผู้เชี่ยวชาญระบบการจัดการและจองคิวร้านอาหารอันดับ 1 ของประเทศไทย นำความรู้ด้านระบบการจองคิวที่ตัวเองมีอยู่มาประยุกต์ใช้เข้าช่วยเหลือจัดการระบบการฉีดวัคซีนตามจุดต่างๆ ขยายความร่วมมือไปยังหน่วยฉีดวัคซีน อาทิ ทรู ดิจิทัล พาร์ค และต่างจังหวัด เพื่อลดภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น

QueQ ได้เข้าช่วยเหลือหน่วยบริการต่างๆมาแล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไอคอนสยาม, เอเชียทีค, โรงพยาบาลศรีธัญญา, นิด้า, พัทยา โดยให้ผู้มีสิทธิ์รับวัคซีนได้จองวันเวลาที่ต้องการ โดย QueQ ได้รับ โควตาที่หน่วยงานต่างๆ ส่งลิสต์รายชื่อมาให้ QueQ ได้มีโอกาส set up ระบบการจอง กำหนดโควตาผู้ได้รับการฉีดวัคซีน แบ่งเป็นรอบย่อยๆในแต่ละชั่วโมง จองเวลา ไม่ให้ผู้รอรับวัคซีนต้องมาเสียเวลานั่งรอคิวนานๆ เพราะหลายที่คนไทยมักไปรอกันตอนเช้า/เที่ยง QueQ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการรวมตัวของคนจำนวนมากอีกด้วย 

สำหรับการเข้ามาช่วยเหลือจัดคิวฉีดวัคซีนที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค คุณโจ้บอกว่าถือว่ามีประสิทธิภาพที่ดี เพราะที่นี่เป็นโมเดลต้นแบบในการทำระบบคิวที่หน่วยวัคซีน ที่มีระบบการจองของ “ไทยร่วมใจ” เป็นการจองระบบหลัก และใช้ระบบของ QueQ มาช่วยลดความแออัดเมื่อผู้รับวัคซีนเข้ามาถึงที่หน่วยฉีดวัคซีนแล้วการติดตั้งระบบทำได้เร็วมาก พอปรับแล้วก็ได้โมเดลที่นำไปปรับใช้ที่อื่นได้ทันที

ในการนำระบบเข้ามาใช้ QueQ ได้พบกับปัญหาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ในช่วงทดลอง heavy usage มีคนใช้บริการเป็นพันคิวต่างจากแต่ก่อนที่เคยทำให้หน่วยงานอื่นๆ  เช่น ธนาคารที่มีแค่ 300-400 คิว/วัน หรือ ที่เอเชียทีคระบบก็ไปพ่วงกับสถานที่ ทำให้ต้องปรับระบบบางอย่างให้ได้ performance ที่ดี โดยทำการปรับข้อมูลเพิ่ม stats ไม่เหมือน dashboard ที่ธนาคาร

ในอนาคตคุณโจ้วางแผนให้บริษัทมีการพัฒนาระบบต่างๆ ให้ดีขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะรองรับให้ได้มากที่สุด ใช้บุคลากรให้น้อยลง และกระจายไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนเทคโนโลยี อีกทั้งเมื่ออุทยานแห่งชาติเปิดทางทีม QueQ ก็เตรียมที่จะทำระบบการจองคิวเข้าสถานที่ เพื่อลดความหนาแน่น รวมทั้งจะมีการตรวจว่าผู้เยี่ยมชมได้รับวัคซีนมาก่อนหรือไม่ นอกจากนั้น เรื่อง Sandbox ตามจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงพูดคุยกับ Andaman Sandbox, Chiang Mai Sandbox และกำลังอยู่ในช่วงเจรจาการกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เรื่องการทำวัคซีนพาสปอร์ตแบบดิจิทัล หรือระบบการยืนยันตัวตนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว เพื่อความสะดวกสบาย ไม่ต้องถือวัคซีนพาสปอร์ตรูปแบบสมุด 

โดยภาพรวมของ QueQ ตอนนี้บริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป็นบริษัท corporate ธนาคาร ร้านอาหาร การจัดงานอีเว้นท์ ที่เข้าไปช่วยพัฒนาระบบบริการการจัดการคิว รวมถึงมีการเข้าไปปรับใช้กับโรงพยาบาลถึง 50 แห่ง โดยหวังที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแบบเดิมที่คนต้องเข้าไปรอคิวนานๆ และยังพัฒนาระบบเพิ่มเติม เช่น e-KYC (electronic Know-Your-Customer) การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์,  NDID (National Digital ID) เป็นเทคโนโลยีสำหรับธนาคารผ่าน mobile banking และวัคซีนพาสปอร์ต

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาหลายๆองค์กรสตาร์ทอัพต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างมาก QueQ เองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่จะต้องลดค่าใช้จ่าย หาช่องทางตลาดที่เป็นขาขึ้น กระโดดไปทำธุรกิจอื่นๆ เน้นสร้างกำไรแบบ SME เพราะทางด้าน VC นั้นก็ลดเงินในกองทุนลง ทำให้ยากในการหาเงินลงทุน การเติบโตแบบ burn เงินก็เป็นความเสี่ยงอีกด้วย หลังโควิด-19 คุณโจ้เชื่อว่าโลกยุคใหม่จะมีคู่แข่ง legacy system และ corporate หันมาทำเหมือนกันอย่างแน่นอน โดยพวกเขาวางแผนที่จะพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีให้มากขึ้นเพื่อผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ 

สุดท้ายแล้ว คุณโจ้ก็ได้แนะนำผู้ประกอบการท่านอื่นๆ ว่า นอกจากความรู้และไอเดียด้านดิจิทัลแล้ว Soft skill ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่บริษัทควรพัฒนา เช่น Soft skill ด้านการบริหารและเข้าใจคน โดยเราจะต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนหมู่มากเพราะผู้ใช้งานที่เปลี่ยนพฤติกรรมไปทุกๆวัน บางรายอาจไม่เข้าใจ ไม่สนใจ เมื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ เราจะต้องมีวิธีให้คนเรียนรู้ระบบใหม่อย่างมีคุณภาพให้คนหันมาสนใจมากขึ้น

Tags

  • Startup

You May Like

ติดต่อทีมงานทรู ดิจิทัล พาร์ค

หรือเข้าชม สถานที่