Chinese Market รู้จักจีน ไม่มีจน

  • ไลฟ์สไตล์
  • February 01, 2019
Chinese Market รู้จักจีน ไม่มีจน
ลบภาพจีนแบบเดิมๆ ไปได้แล้ว! ถึงเวลามาทำความรู้จักกับผู้บริโภคจีนยุค 4.0 ที่มีไลฟ์สไตล์แบบดิจิทัล

ใครยังนึกถึงจีนในฐานะโรงงานของโลกที่เน้นผลิตและใช้สินค้าราคาถูก หรือนึกถึงชาวจีนที่มีไลฟ์สไตล์เชยๆ ล่ะก็รีบกดปุ่มลบภาพนั้นด่วนๆ เพราะบรรดาคุณลุงคุณป้าชาวจีนอาจจะเป็นนักช็อปออนไลน์ตัวยง แถมยังใช้ของแบรนด์เนมแท้ๆ มากกว่าเราเสียอีก

นอกจากจีนจะเป็นตลาดใหญ่ที่ถนนทุกสายมุ่งไปหาแล้ว จีนยังเปลี่ยนไปมากจริงๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากที่เคยเป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกหรือถูกมองว่าเป็นจอมก๊อปปี้ วันนี้จีนได้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีแถวหน้าของโลก ทำให้คนจีนคุ้นเคยกับความไฮเทคและมุ่งสู่สังคมดิจิทัลแบบสมบูรณ์

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ไลฟ์สไตล์ของคนจีนที่หันมาซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น ชาวจีนโดยเฉลี่ยราว 44.9% ใช้จ่ายผ่านมือถือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น การช้อปปิ้งของชาวจีนยิ่งสะดวกขึ้นไปอีก เมื่อระบบชำระเงินออนไลน์ทำให้ไม่ต้องพกเงินสดอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็น “อาลีเพย์” (AliPay) เครืออาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ด้าน E-Commerce ของจีนที่ก่อตั้งขึ้นโดย “แจ็ค หม่า” ซึ่งได้เข้ามาให้บริการกับนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยด้วย อีกรายคือ “วีแชท” (WeChat) แอปพลิเคชันสนทนาบนโทรศัพท์มือถือที่คล้าย “ไลน์” (Line) ในบ้านเรา ซึ่งก็ได้ปรับบทบาทเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ถึงขนาดเป็นกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ให้ด้วย เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทั้งแชทและช็อปครบครัน

Chinese and e-commerce
ชาวจีนสามารถช้อปผ่านระบบชำระเงินออนไลน์ได้ทุกเวลา ตั้งแต่ช็อปแบรนด์หรูยันแผงอาหารข้างทาง หรือแม้แต่แท็กซี่ แถมยังมีคูปองโปรโมชั่นและส่วนลดต่างๆ เป็นการจูงใจด้วย

TDPK มองว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือ การที่สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทต่อการบริโภคสินค้ามากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า กระแสเครือข่ายสังคมสำหรับค้าขายออนไลน์ (Social Commerce) ยกตัวอย่างในประเทศจีน สื่อสังคมออนไลน์ที่นิยมทำการค้าขายกัน ได้แก่ วีแชท (WeChat) เว่ยโป๋ (Weibo) และไป่ตู้ (Baidu) ที่เป็นเหมือนเฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) และกูเกิล (Google) ในเวอร์ชันจีน เนื่องจากจีนยังควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ต่างชาติอยู่

นอกจากสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นช่องทางทำมาค้าขายแล้ว ยังเป็นแหล่งค้นหาข้อมูลของกลุ่มผู้บริโภค (Social Search) แทนการค้นหาผ่าน Search Engines บนอินเทอร์เน็ตอีกด้วย เพราะไม่เพียงแต่จะได้รับข้อมูลสินค้า แต่ยังได้เห็นมุมมองจากเพื่อนๆ หรือเหล่าคนดังที่มีต่อสินค้าที่เราหมายตาไว้

โลกโซเชียลมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภครุ่นใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มของ Z-lennials ที่เกิดหลังปีพ.ศ. 2543 ซึ่งภายในปีพ.ศ. 2563 จะมีสัดส่วนเป็น 40% ของผู้บริโภคจีนทั้งประเทศ มีข้อมูลว่า ราว 70% ของคนกลุ่มนี้นิยมซื้อสินค้าจากสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าคนยุคก่อนๆ

เมื่อผ่า DNA ของคนกลุ่ม Z-lennials แล้วจะพบว่า คนเหล่านี้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีทันสมัย เป็นผู้บริโภคที่ชื่นชอบความสะดวกและรวดเร็ว มองหาคุณค่าที่สะท้อนความเป็นตัวตน เช่น ความน่าเชื่อถือ ความยั่งยืน หรือรู้สึกถึงความเป็นพลเมืองของโลก ดังนั้น การตลาดแบบดิจิทัลจึงมีบทบาทสำคัญในการกุมหัวใจของคนกลุ่มนี้

“นารายา” (NaRaYa) แบรนด์กระเป๋าผ้าพันล้านของคนไทยที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงชาวจีน ก็เริ่มขยับจากร้านแบบออฟไลน์หันมารุกตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง โดยเปิดช็อปบนเว็บขายสินค้าต่างๆ เช่น ลาซาด้า (Lazada) ช้อปปี้ (Shopee) 11street เป็นต้น นอกจากนี้ ยังผนึกกำลังกับอาลีเพย์และวีแชท เช่น แคมเปญช้อปออนไลน์ในวันคนโสดของอาลีบาบา และเปิดให้สามารถช้อปในแอปพลิเคชันวีแชทเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าชาวจีน เพิ่มเติมจากกลุ่มที่เดินเข้ามาซื้อหน้าร้าน

หากต้องการชนะใจผู้บริโภคชาวจีน ก็ต้องเข้าใจวิธีการขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมดิจิทัลของจีน ใครปรับตัวได้เร็วและพร้อมกว่า ก็หมายถึงโอกาสที่จะมีมากกว่าในตลาดขนาดใหญ่แห่งนี้

Tags

  • Business
  • Ecommerce

You May Like

ติดต่อทีมงานทรู ดิจิทัล พาร์ค

หรือเข้าชม สถานที่