เมื่อคนรุ่นใหม่เป็น “นักเช่า” ไม่ใช่ “นักช้อป”

  • ไลฟ์สไตล์
  • November 20, 2018
เมื่อคนรุ่นใหม่เป็น “นักเช่า” ไม่ใช่ “นักช้อป”
สูญเสียกันไปเท่าไรแล้วกับการที่สาวๆ รูดบัตรซื้อชุดออกงานสำคัญสุดอลังการอย่างงานแต่งงานหรืองานรวมรุ่น แล้วเสื้อผ้าเหล่านั้นก็จะถูกแขวนทิ้งไว้เต็มตู้อย่างเงียบสงบ ก็แหม…จะให้ใส่ชุดเดิมซ้ำๆ ก็ใช่ที่ บางงานก็ดันมีธีมไม่เหมือนใครไปอีก

แต่การควักเงินซื้อของใหม่อาจจะไม่ใช่คำตอบของคนรุ่นนี้สักเท่าไหร่ สาวๆ รุ่นใหม่หันมาใช้สินค้าเพียงชั่วครั้งชั่วคราวและไม่ได้ต้องการครอบครองของใหม่แกะกล่องเหมือนคนยุคก่อนๆ อีกแล้ว

 

พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเปลี่ยนบทบาทจาก “นักช้อป” ไปเป็น “นักเช่า” กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมมีอิทธิพลมากขึ้น ก็ยิ่งมีส่วนทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนข้าวของเครื่องใช้อวดเพื่อนๆ เป็นว่าเล่น ยังไม่รวมที่พยายามเลียนแบบไลฟ์สไตล์ของเหล่าคนดังทั้งหลาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนข้าวของบ่อยขึ้น

 

สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งผู้คนสามารถนำสิ่งของต่างๆ มาแบ่งปันกันใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุด ไม่จำเป็นต้องควักเงินซื้อของใช้ใหม่ๆ ทุกอย่างอีกต่อไป

 

ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PricewaterhouseCoopers) ประเมินว่า มูลค่าของเศรษฐกิจแบ่งปันที่ผู้บริโภคหันมาใช้วิธีเช่าหรือยืมสินค้าแทนการซื้อขาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์หรือ 10 ล้านล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2568 ขณะที่รายงานอีกชิ้นของ แฮมเมอร์สัน แอนด์ เวอร์ดิกต์ (Hammerson and Verdict) ชี้ให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า มิลเลนเนียล (Millennial) หรือเจ็นเนอเรชั่น เอ็ม (Generation M) ที่มีอายุราว 18-34 ปี ต่างก็ปลาบปลื้มกับเทรนด์นี้มากขึ้น

 

ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้าเป็นตัวอย่างสุดคลาสสิก นอกจากจะมีร้านเสื้อผ้ามือสองมากมายให้ซื้อหาในราคาย่อมเยา ยังมีร้านให้เช่าชุดออกงานทั้งแบบยืมและเช่าตัด ไม่ว่าจะเว่อร์วังอลังการแค่ไหน

 

แต่ที่ล้ำกว่านั้นคือ เว็บไซต์ bchurunway.com ที่เพิ่งเปิดบริการในไทยเมื่อปีที่แล้ว ด้วยแนวคิดตู้เสื้อผ้าออนไลน์ ตอบโจทย์สาวๆ นักเช่าทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นชุดทำงาน ชุดงานแต่ง งานบวช งานปาร์ตี้ ฯลฯ เพียงคลิกเลือกชุดที่ใช่บนเว็บไซต์ ชำระเงินค่าบริการ จากนั้นก็จะมีเมสเซนเจอร์มาส่งถึงบ้าน ถ้าไม่แน่ใจก็สามารถโทร.นัดเข้าไปลองชุดได้ในเวลาที่สะดวก แถมทางร้านยังมีสไตลิสต์คอยบริการให้ความช่วยเหลืออีกด้วย

 

โดยเว็บไซต์นี้มีเสื้อผ้ากว่า 50,000 ชิ้นจากดีไซน์เนอร์แบรนด์ชั้นนำทั่วทุกมุมโลกกว่า 100 แบรนด์ พร้อมบริการส่งฟรีทั่วประเทศ มีระยะเวลาให้เช่า 4 วัน และ 8 วัน อีกทั้งยังสามารถคืนชุดได้หลายวิธี ทั้งส่งคืนเอง ส่งทางไปรษณีย์ หรือจ้างแมสเซนเจอร์ก็ได้ แต่ต้องดูแลสภาพเสื้อผ้าที่เช่าให้ดี อย่าให้ชำรุดเสียหายก็พอ

 

อีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจให้เช่าสุดล้ำที่มีเฉพาะ ไทยแลนด์ โอนลี คือ ธุรกิจให้เช่าสินสอด เป็นทางรอดของคนที่ให้ความสำคัญกับหน้าตา หรือหน้าตาต้องมาก่อน

 

บริษัท โรแมนทีส (Romantiese) ได้เปิดให้บริการเช่าสินสอดงานแต่ง ทั้งเงินสด ทองแท่ง รถเบนซ์ส่งตัว ซึ่งหากจะแยกเช่าก็ได้ โดยทองแท่งหนักแท่งละ 10 บาท ค่าเช่าแท่งละ 10,000 บาท ส่วนทองแท่งหนัก 50 บาท ค่าเช่า 40,000 บาท และทองแท่งหนัก 100 บาท ค่าเช่า 70,000 บาท ขณะที่เงินสด 3-5 แสนบาท คิดค่าเช่า 30,000 บาท เงินสด 1 ล้านบาท ค่าเช่า 50,000 บาท ไปจนถึงเงินสด 10 ล้านบาท ค่าเช่า 250,000 บาท แถมยังมีรถเบนซ์ติดโบ ค่าเช่า 15,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชั่นรวมเงินสดบวกรถเบนซ์อีกด้วย

 

ดังนั้น หากเราเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการซื้อขาดมาเป็นการเช่าใช้ นอกจากจะทำให้เราเห็นโอกาสทางธุรกิจการเช่าใช้ที่มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการเปิดตลาดที่กว้างขึ้นให้ผู้เช่าอีกด้วย นับว่าเป็นประโยชน์ที่เอื้อกันทั้งสองฝ่าย

Tags

  • Lifestyle

You May Like