เมื่อ CEO ไม่ใช่ Business starter

  • ธุรกิจ
  • November 20, 2018
เมื่อ CEO ไม่ใช่ Business starter
หากผู้ก่อตั้งบริษัทฯ ไม่ใช่ผู้บริหารที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้ฟันฝ่ามรสุมธุรกิจได้ แล้วแบบนี้...จะต้องดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างไร? ช่างเป็นคำถามที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ก่อนอื่น TDPK ขอบอกเล่าทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนเลยว่า ทั้งสองตำแหน่งนี้มีความสามารถ (Skill) แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

- ซีอีโอ (CEO) หรือชื่อเต็มว่า Chief Executive Officer คือ ผู้ดำรงตำแหน่ง
ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร มีอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดในการบริหารงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำไร ขาดทุน รายได้ กลยุทธ์ รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยตรง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้จึงจำเป็นต้องมีความเป็นผู้นำสูงมาก ๆ ทำให้ส่วนใหญ่จะจบการศึกษาหลักสูตรการบริหารธุรกิจอย่าง MBA เป็นหลัก

- ผู้ริเริ่มก่อตั้งองค์กร หรือ Business Starter คือ ผู้ที่มาพร้อมกับไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ รวมถึงคอยสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้แก่องค์กร

ทั้งนี้ แค่ความคิดสร้างสรรค์และการริเริ่มสิ่งใหม่ของผู้ก่อตั้งองค์กร อาจไม่เพียงพอต่อการบริหารธุรกิจในตำแหน่งซีอีโอให้สำเร็จได้ตลอดรอดฝั่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ก่อตั้งธุรกิจอาจไม่ใช่ซีอีโอที่ดีที่สุด เนื่องจากการบริหารธุรกิจต้องใช้องค์ประกอบและทักษะหลากหลายครบเครื่อง อีกทั้งต้องมีความเป็นผู้นำที่ตัดสินใจได้เด็ดขาดและฉับไว โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบริษัทฯ ให้ก้าวหน้ายั่งยืน การที่บรรดาผู้ก่อตั้งองค์กรเลือกที่จะจ้างซีอีโอผู้มีประสบการณ์มาบริหารแทนตัวเองนั้น ก็เลยเป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเชียวละ

ยกตัวอย่างสถานการณ์ CEO ≠ Business Starter จากธุรกิจ Search Engine ระดับโลกอย่าง Google ที่ก่อตั้งโดยสองหนุ่ม แลร์รี่ เพจ (Larry Page) และเซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) แต่ทั้งสองกลับยกตำแหน่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดให้กับศุนทัร ปิจไช (Sundar Pichai) วิศวกรหนุ่มชาวอินเดียบริหารงานแทน

ซีอีโอหนุ่มลูกหม้อ Google คนนี้เคยมีผลงานการคิดค้น ‘Chrome’ แพลตฟอร์มที่ทำเงินให้กับ Google อย่างมหาศาล และยังเป็นเบื้องหลังที่คอยดูแลโครงการใหญ่อีกมากมาย

ส่วนหนึ่งเพราะผู้ก่อตั้ง Google ต้องการโฟกัสกับงานใหม่ เลยเลือกสร้างนวัตกรรมใหม่ให้แก่องค์กรภายใต้บริษัทแม่อย่างเครือ Alphabet แทน พวกเขาจะได้ไม่ต้องคอยนั่งเซ็นเอกสารและไม่ต้องปวดหัวกับการบริหาร โดยยกหน้าที่เหล่านี้ให้ซีอีโอคอยดูแลแทน หรืออธิบายเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “การเลือกทำสิ่งที่ตนเองถนัด ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า”

 

CEO ที่ดีต้องมีอะไรบ้าง?

การที่ซีอีโอจะบริหารและทุ่มเทให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จดีเยี่ยมได้นั้น TDPK มองว่า ใครคนนั้นจะต้องมีคุณสมบัติในการเรียนรู้ประสบการณ์และมองโลกตามความเป็นจริง คอยมองหาวิธีการใหม่ ๆ หรือกลยุทธ์ธุรกิจที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ซีอีโอที่ดีต้องเป็นคนที่อ่านเกมธุรกิจในอุตสาหกรรมได้อย่างเด็ดขาด ใช้ความสามารถของพนักงานในทางที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีทักษะการสื่อสารที่ดี ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อนเกินไป เพื่อให้พนักงานเข้าใจง่ายและปฏิบัติตามได้ทันที

นอกจากซีอีโอจะต้องเป็นผู้พูดที่ดีแล้วยังต้องเป็นผู้ฟังที่ดีอีกด้วย เพื่อจะได้มองหาทิศทางใหม่ ๆ ในการบริหารงานร่วมกับพนักงานในองค์กร ควบคู่กับการสร้างสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า เพื่อนร่วมงานและพนักงานในองค์กร รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพิ่มความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจระยะยาว ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ซีอีโอมืออาชีพจะต้องลงมือทำให้ทุกสิ่งกลายเป็นจริงได้นั่นเอง

สุดท้ายนี้ TDPK ขอแนะนำว่า ไม่ว่าคุณจะเป็น CEO หรือ Business Starter
ก็ขอให้เลือกตามความชอบ และเลือกสิ่งที่ใช่สำหรับคุณจะดีกว่า

Tags

  • HR

You May Like

ติดต่อทีมงานทรู ดิจิทัล พาร์ค

หรือเข้าชม สถานที่