ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาจ้างงานและสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวัง

  • ธุรกิจ
  • August 04, 2021
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาจ้างงานและสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวัง
ในการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ นอกจากความรู้และเทคนิคการทำงานที่สำคัญแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจหน้าใหม่ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ SMEs หรือธุรกิจไหนๆก็ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจเป็นอย่างมากคือ กฎหมายแรงงาน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักของกฎหมายและไม่สามารถละเลยได้

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้จัดงาน TDPK TALK: ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาจ้างงานและสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวัง เพื่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจาก Tilleke & Gibbins ถึงความรู้เกี่ยวกับสัญญาการจ้างงานและสิ่งที่ควรระมัดระวังเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

 

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ บัญญัติว่า สัญญาจ้างแรงงาน หมายถึง “สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะจ่ายสินจ้างให้ตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้” ข้อสังเกตอีกอย่างที่สำคัญก็คือ นายจ้างจะต้องมีอำนาจในการบังคับบัญชาลูกจ้างได้อีกด้วย

 

ในทางกฎหมายไม่ได้มีกฎข้อบังคับว่าสัญญาจ้างแรงงานจะอยู่ในรูปแบบไหน สามารถทำเป็นรูปแบบหนังสือ หรือจะตกลงกันด้วยวาจาก็ได้ แต่เพื่อป้องกันปัญหาการโต้แย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ชูเสริฐ ศุภสิทธิ์ธำรง หุ้นส่วน Tilleke & Gibbins ให้คำแนะนำว่าหากจะทำธุรกิจสตาร์ทอัพหรือจะตั้งธุรกิจขึ้นมา ควรทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต 

 

สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือ Freelance จะมีสัญญาการทำงานที่ชื่อว่า สัญญาจ้างทำของ ซึ่งจะแตกต่างจากสัญญาจ้างแรงงานปกติด้วยเพราะความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ต่างกัน เช่น สัญญาจ้างแรงงาน ต้องมีการบังคับบัญชา เช่น ในสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อลูกจ้างมีการขาดลามาสาย ลูกจ้างจะต้องขออนุญาตและอาจถูกลงโทษได้ แต่สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างนั้นไม่มีสิทธิไปบังคับบัญชาผู้ว่าจ้างได้ เหล่าผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ดีก่อนว่าบุคคลที่เราจ้างทำงานนั้นอยู่ในลักษณะไหน

 

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ข้อสัญญาห้ามทำงานกับคู่แข่งทางธุรกิจ โดยจามร พรพลวัฒน์ ทนายความ Tilleke & Gibbins ได้พูดถึงทั้งหมด 3 ข้อ

 

  1. non-competition clause (สัญญาห้ามทำการค้าแข่งกับนายจ้าง) มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่และระยะเวลา ไม่ได้มีการห้ามตลอดไป อีกทั้งยังดูลักษณะงานและตำแหน่งของลูกจ้าง ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้บริหารต่างๆ กรรมการผู้จัดการ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
  2. non-solicitation clause (สัญญาห้ามชักชวนพนักงานไปทำงานกับคู่แข่ง)                     
  3. confidentiality clause (ข้อตกลงห้ามเปิดเผยความลับของบริษัท/องค์กร)

 

ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจสตาร์ทอัพควรต้องระวังตัว เพราะส่วนมากมีการเติบโตที่รวดเร็ว เมื่อดำเนินธุรกิจไปสักระยะหนึ่งอาจเกิดการที่พนักงานเราถูกชักจูงไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งได้

 

ต่อมาที่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ การบอกเลิกสัญญาจ้าง เพราะกฎหมายยังคงคุ้มครองลูกจ้างอยู่ ฉะนั้นนายจ้างจะต้องปฏิบัตตามเงื่อนไขด้วย โดยมีการแบ่งประเภทการเลิกจ้างกว้างๆ ได้ 2 ประเภท

  1. สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา
  2. สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา: แบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท
    1. เลิกจ้างแบบมีเหตุให้ต้องเลิกจ้างแรงงาน
    2. เลิกจ้างแบบไม่มีเหตุให้ต้องเลิกจ้างแรงงาน: ในลักษณะนี้นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย

 

แต่ก็มีกรณีข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างได้ เช่น ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นระยะเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร

(ในกรณีนี้นายจ้างควรที่จะออกหนังสือเตือนลูกจ้างด้วย) เป็นต้น

 

และประเด็นสุดท้ายที่มีผู้ประกอบการหลายๆท่านสงสัยก็คือ การเลิกจ้างงานในยุค Covid-19 นั้นนายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างได้แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่ามันเกิดผลกระทบกับกิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนไม่สามารถประกอบกิจการได้จนจำเป็นต้องเลิกจ้าง โดยนายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าชดเชยและต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเสมอ

 

-------

ทรู ดิจิทัล พาร์คยังมีงานทอล์กและอีเว้นท์เพิ่มความรู้อยู่เรื่อยๆ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดอีเว้นท์ต่อไปได้ทาง https://www.truedigitalpark.com/events

 

ทรู ดิจิทัล พาร์ค—ศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตั้งอยู่ใจกลางย่านนวัตกรรมต้นแบบด้านดิจิทัลของประเทศไทย

Tags

  • HR

You May Like

ติดต่อทีมงานทรู ดิจิทัล พาร์ค

หรือเข้าชม สถานที่