บทเรียนที่ควรเก็บไปคิดต่อจากสถานการณ์โควิด-19 จากประเทศต่างๆ

  • Lifestyle
  • March 17, 2020
บทเรียนที่ควรเก็บไปคิดต่อจากสถานการณ์โควิด-19 จากประเทศต่างๆ
จากความวิกฤติของสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ทำให้เราต้องกลับมาดูมาตรการของแต่ละประเทศและลองเอามาเป็นบทเรียนเพื่อให้เราผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยกัน

จากที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศสิงคโปร์ จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้มีแนวโน้มในแนวบวก หรือดูเหมือนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ แต่ในทางกลับกัน เมื่อวันที่ 14 มี.ค. องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่ายุโรป กลับกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในยุโรปมีมากกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก

รายงานล่าสุดจากรอยเตอร์แจ้งว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของวันจันทร์ที่ 16 มี.ค. ในประเทศจีนมี 21 คน ในขณะที่อิตาลีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,233 คนในวันเดียวกัน  ทำไมสถานการณ์จึงเป็นเช่นนี้ เรามาดูบทเรียนที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กัน

บทเรียนเกี่ยวกับการควบคุมโรค จากสถานการณ์โควิด-19

  1. การตรวจเชื้อไวรัสฟรี

รัฐบาลประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอีกหลายๆประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการตรวจเชื้อไวรัส เพื่อให้ประชากรที่มีรายได้น้อยไม่ลังเลที่จะเข้ามารับการตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อสงสัย เพราะถ้าหากประชาชนต้องแบกรักค่าใช้จ่ายในการตรวจ ประมาณ 1,000-2000 บาท ก็อาจจะทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยเลือกที่จะไม่เข้ามาตรวจ หรือไม่เข้าโรงพยาบาลมารักษา

  1. การสนับสนุนค่ารักษาทั้งหมด

ถึงแม้บางวิธีการรักษาไวรัสโคโรน่าจะมีราคาแพง แต่รัฐบาลจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอีกบางประเทศก็ประกาศพร้อมที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายเอาไว้ทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนเต็มใจเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย

  1. สถานที่ตรวจเชื้อเข้าถึงง่าย

ประเทศเกาหลีใต้มีการจัดสถานีตรวจหาเชื้อ รวมถึงการบริการแบบ drive-thru ที่สามารถรองรับได้มากกว่า 15,000 คน เพิ่มความเข้าถึงได้ง่ายของการบริการตรวจและรักษา ในขณะเดียวกันประเทศสหรัฐอเมริกามีสถานพยาบาลเพียงบางแห่งที่รัฐกำหนดไว้ว่าสามารถตรวจเชื้อได้ฟรี แต่อีกหลายๆ แห่งกลับคิดค่าใช้จ่าย ซึ่งการเดินทางไปโรงพยาบาลที่ตรวจเชื้อฟรีก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างหนักสำหรับชาวอเมริกันผู้ที่อยู่ห่างไกลและมีรายได้น้อย บ่งบอกถึงบริการควบคุมโรคที่เข้าไม่ถึงคนหลายๆ พื้นที่

  1. การออกนโยบายรวดเร็ว

ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อประเทศแรกๆ แต่ดูเหมือนว่าสามารถควบคุมจำนวนได้ ทั้งที่อยู่ใกล้กับประเทศจีน และมีประชาการเดินทางไปกลับจีนจำนวนมาก สิ่งที่ไต้หวันทำคือเริ่มออกนโยบายอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีผู้ติดเชื้อก่อนตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนรวมทั้งไต้หวันหลายล้านคนเตรียมเดินทาง โดยการควบคุมสถานการณ์ตั้งแต่ต้นนี้ รวมถึงการรวมข้อมูลด้านสุขภาพและข้อมูลคนเข้าเมืองเป็น Big data ติดตามดูประวัติผู้ที่กลับจากประเทศเสี่ยง และแจ้งให้กักตัวอยู่ที่บ้าน รวมทั้งให้ผู้ป่วยที่มีอาการด้านระบบหายใจในฐานข้อมูลรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ถึงแม้จะพบเพียง 1 เคสจากทั้งหมด 113 รายก็ตาม แต่การเริ่มต้นออกนโยบายอย่างรวดเร็วของไต้หวันได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศนี้ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อจนถึงวันที่ 16 มี.ค. เพียง 67 เคส

  1. การยอมรับและให้ประชาชนต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง

นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์เป็นหนึ่งในผู้นำที่ออกมาแจ้งประชาชนว่าสถานการณ์แพร่ระบาดนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน ให้เตรียมตัวไว้เลยว่าชีวิตจะต้องปรับตัว การดำเนินชีวิตจะไม่เหมือนเดิม พร้อมชี้แจงสิ่งที่ต้องทำ และพูดอย่างตรงไปตรงมาเพื่อลดความคลุมเครือ แต่ให้กำลังใจ พร้อมนโยบายควบคุมและป้องกันอย่างจริงจัง ซึ่งแตกต่างจากผู้นำหลายๆ ประเทศที่พยายามบอกว่าสถานการณ์ควบคุมได้ เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่จริงๆ แล้วรัฐบาลยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้จริงๆ ทำให้ประชาชนไม่ระวังตัว และยังดำเนินชีวิตแบบไม่ป้องกันตัวต่อไป เปิดโอกาสให้การแพร่เชื้อมีมากขึ้นจนมารู้ตัวอีกทีก็อยู่ขั้นวิกฤติแล้ว

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อยู่ในขั้นวิกฤติ นายเทดรอส อะดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงจากความรุนแรงของการแพร่ระบาด และระดับความเฉยชาที่ก่อให้เกิดวิกฤติ แต่ให้ความเห็นว่าทุกประเทศยังสามารถที่จะควบคุมการระบาดได้

 

ที่มา: https://thestandard.co/coronavirus-lesson-from-china/

https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2762689

Tags

  • COVID-19

You May Like

Feel free to contact us or visit

us to check out our Spaces